ความหมายของคอมพิวเตอร์
คอมพิวเตอร์ (Computer) หมายถึงอุปกรณ์ชนิดหนึ่งที่ทำงานด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ สามารถเก็บและจำข้อมูลรวมถึงชุดคำสั่งในการทำงานได้ทำให้สามารถทำงานได้โดยอัตโนมัติ ด้วยอัตราความเร็วที่สูงมาก ใช้เพื่อประโยชน์ในการคำนวณหรือทำงานต่าง ๆ ได้เกือบทุกชนิดทุกประเภทและแสดงผลลัพธ์ออกมาในรูปแบบต่าง ๆได้อย่างรวดเร็วถูกต้อง คอมพิวเตอร์มาจากรากศัพท์ภาษาลาตินว่า Computare พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน (2540) ได้บัญญัติไว้ว่า Computer : คอมพิวเตอร์,คณิตกรณ์ หมายถึง เครื่องคำนวณหรือผู้คำนวณ มีหน้าที่คำนวณและเปรียบเทียบ (ประมวลผลข้อมูล) ตามคำสั่งที่มนุษย์จัดเตรียมไว้ในรูปแบบของโปรแกรมหรือชุดคำสั่งต่าง ๆ
คุณสมบัติเฉพาะของคอมพิวเตอร์
ในปัจจุบันจะเห็นได้ว่ามีอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่สามารถคำนวณได้ เช่น ลูกคิด เครื่องคิดเลข แต่คอมพิวเตอร์มีความแตกต่างจากอุปกรณ์ที่ใช้ในการคำนวณโดยทั่วไปคือ
1. คอมพิวเตอร์เป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีหน่วยคำนวณและปฏิบัติการทางตรรกยะซึ่งประกอบด้วยวงจรไฟฟ้ามากมาย ดังนั้นการคำนวณเปรียบเทียบจึงสามารถทำได้อย่างรวดเร็ว
2. คอมพิวเตอร์มีหน่วยความจำภายในเครื่อง ที่สามารถเก็บข้อมูลซึ่งอาจเป็นข้อความ ตัวเลข รูปภาพ ไว้ในหน่วยความจำภายในเครื่องเพื่อประโยชน์ในการเรียกใช้ข้อมูลปัจจุบันหรือเรียกใช้ในภายหลังได้
3. ผู้ใช้สามารถใช้ชุดคำสั่ง หรือโปรแกรมที่บอกขั้นตอนที่คอมพิวเตอร์ต้องทำงานโดยเรียงลำดับการทำงานก่อนหลังหรือวิธีการประมวลผล ซึ่งคอมพิวเตอร์สามารถทำงานตามคำสั่งที่อยู่ในโปรแกรมนั้นอย่างอัตโนมัติ
กระบวนการทำงานของคอมพิวเตอร์ กระบวนการทำงานของคอมพิวเตอร์ มี 3 ขั้นตอน คือ
1. รับเข้า (Input) คอมพิวเตอร์จะรับข้อมูลเข้ามา แล้วปฏิบัติตามคำสั่งข้อมูลนั้น อาจเป็นตัวเลข ตัวอักษร ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหวและเสียง
2. ประมวลผล (Process) คอมพิวเตอร์จะทำการคำนวณ เปรียบเทียบ วิเคราะห์ โดยการใช้คำสั่งหรือโปรแกรมที่เขียนขึ้น
3. ส่งออก (Output) คอมพิวเตอร์จะนำผลที่ทำการประมวลผลเสร็จเรียบร้อยมาแสดงในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้สื่อความหมายและนำไปใช้ประโยชน์ได้ง่าย ประเภทของคอมพิวเตอร์
เนื่องจากคอมพิวเตอร์ในแต่ละยุคมีความสามารถแตกต่างกัน การแบ่งประเภทของคอมพิวเตอร์จึงต้องอาศัยการแบ่งประเภทของเครื่องที่อยู่ในยุคเดียวกัน ซึ่งมีวิธีการแบ่ง 3 วิธี ดังนี้
1. แบ่งตามวิธีการประมวลผล 2. แบ่งตามวัตถุประสงค์ของการใช้งาน 3. แบ่งตามขนาดของคอมพิวเตอร์
สำหรับการเรียนรู้เนื้อหานี้จะแบ่งคอมพิวเตอร์ตามวิธีที่ 3 คือแบ่งตามขนาดของคอมพิวเตอร์ ซึ่งสามารถแบ่งได้ดังนี้
1. ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ (Super computer) เป็นคอมพิวเตอร์ที่มีประสิทธิภาพและขีดความสามารถสูงมาก สามารถต่อพ่วงไปยังอุปกรณ์ต่าง ๆ ราคาค่อนข้างสูงเพราะการออกแบบและการผลิตต้องใช้ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีมาก นิยมใช้ในงานส่งดาวเทียมและยานอวกาศ สำหรับประเทศไทยมีใช้ที่กรมอุตุอนิยมวิทยา ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ เป็นต้น
2. เมนเฟรมคอมพิวเตอร์ (Mainframe Computer) เป็นคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่สามารถใช้งานกับข้อมูลจำนวนมาก ๆ ได้ดีกว่าคอมพิวเตอร์แบบอื่น ๆ สามารถเชื่อมต่อไปยังปลายทางได้ ทำงานพร้อมกันได้หลายงานและใช้ได้หลายคนพร้อม ๆ กัน ตัวอย่างเครื่องเมนเฟรมที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย คือ เครื่องรับจ่ายเงินอัตโนมัติ/ตู้เอทีเอ็ม(ATM) ของธนาคาร
3. มินิคอมพิวเตอร์ (Mini Computer) เป็นคอมพิวเตอร์ขนาดกลางส่วนมากใช้กับหน่วยงานธุรกิจขนาดเล็กและมีราคาถูกลง สามารถทำงานได้หลายงานพร้อมกันเหมือนเครื่องเมนเฟรม แต่ขีดความสามารถในการต่อพ่วงน้อยกว่า หน่วยงานที่ใช้ส่วนใหญ่ได้แก่ กอง กรม มหาวิทยาลัย บริษัทห้างร้าน ห้างสรรพสินค้า โรงแรม โรงพยาบาล เป็นต้น
4. ไมโครคอมพิวเตอร์ (Micro Computer) เป็นคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กที่ใช้กันทั่วไปและนิยมมากที่สุดในปัจจุบัน หรืออาจเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (Personal Computer) คนทั่วไปนิยมเรียกว่า พีซี (PC) ใช้ตัวประมวลผลแบบชิพ (Chip) เป็นองค์ประกอบหลัก คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลนั้นยังสามารถแบ่งย่อยตามลักษณะประเภท ได้ดังนี้
4.1 คอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะ (Desktop Computer) เป็นคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลชนิดตั้งบนโต๊ะหรือพื้น ตัวเครื่องมีลักษณะเป็นกล่องขนาดใหญ่ตั้งบนโต๊ะทำงานมีสายเชื่อมโยงไปยังจอภาพ ซึ่งตั้งอยู่บนโต๊ะทำงานพร้อมแผงแป้นอักขระและเมาส์ นิยมใช้ในหน่วยงานทั่วไป เช่นห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ ร้านอินเทอร์เน็ตตามบ้านทั่ว ๆ ไป เนื่องจากราคาไม่แพงจนเกินไป
4.2 คอมพิวเตอร์แบบวางตัก/แล็ปทอป (Laptop Computer) เป็นคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลแบบกระเป๋าหิ้ว สามารถพกพาไปไหนมาไหนได้สะดวก ในเวลาอาจใช้วางบนตักได้ (Lap แปลว่า ตัก) คอมพิวเตอร์รุ่นนี้มีแบตเตอรี่ไฟฟ้าสำรองในตัว ใช้จอภาพผลึกเหลวซึ่งเรียกว่า แอลซีดี (LCD : Liquid Crystal Display) ในปัจจุบันไม่ค่อยได้รับความนิยม
4.3 คอมพิวเตอร์ขนาดสมุดบันทึก (Notebook) เป็นคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กมาก มีขนาดเล็กเท่าหนังสือขนาดใดก็ได้ สามารถพกพาไปไหนมาไหนได้สะดวก มีแบตเตอรี่ในตัวและสามารถพ่วงต่อกับโทรศัพท์เพื่อรับส่งข้อมูลในระยะไกลได้ คอมพิวเตอร์รุ่นนี้ในปัจจุบันได้รับการพัฒนาไปมากและเป็นที่นิยมใช้กันเป็นอย่างมาก
4.4 คอมพิวเตอร์ขนาดฝ่ามือ (Palmtop Computer) เป็นคอมพิวเตอร์ที่มีขนาดเล็ก สามารถวางบนฝ่ามือแต่ไม่ค่อยได้รับความนิยมมากนัก เนื่องจากแป้นอักขระ รวมทั้งจอภาพมีขนาดเล็กเกินไป ไม่สะดวกต่อการใช้งาน แต่เหมาะสำหรับการเก็บบันทึกส่วนตัว เช่น หมายเลขโทรศัพท์หรือบันทึกชื่อเพื่อน หรือรายละเอียดส่วนตัว
4.5 คอมพิวเตอร์ขนาดมือถือ (Handheld Computer) เป็นคอมพิวเตอร์ที่มีขนาดเล็กถือด้วยมือ จอภาพเล็กปกตินิยมใช้เพื่อการบันทึกตัวเลขมาตรไฟฟ้า มาตรน้ำประปาโดยพนักงานจะถือคอมพิวเตอร์ไปอ่านมาตรวัดแล้วกดปุ่มบันทึก ในหน่วยงานขนาดใหญ่จะใช้ในการตรวจนับสินค้า
4.6 คอมพิวเตอร์แบบพีดีเอหรือเครื่องช่วยงานบุคคลแบบดิจิทัล (PDA : Personal Digital Assistant)คอมพิวเตอร์แบบพีดีเอ สามารถพกพาได้อย่างสะดวก ใช้ปากกาแสง (Light Pen) เขียนข้อมูลบนหน้าจอ บางครั้งใช้ปากกาแสงเป็นอุปกรณ์เพื่อเลือกทำงานบนหน้าจอเหมือนกับสมุดบันทึก ภายในเครื่องมีโปรแกรมที่อ่านลายมือ เมื่อเขียนแล้วเปลี่ยนเป็นตัวอักษรได้โดยใช้ปากกาพิเศษ ปัจจุบันยังไม่นิยมมากนักเนื่องจากราคายังแพงพอสมควร
|
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น